วิธีติดตั้ง WordPress ลงในเครื่อง แบบง่ายที่สุด อัพเดท 2023

บทความนี้จะสอนการติดตั้ง WordPress ลงบนเครื่อง 2 รูปแบบ โดยมีทั้งแบบที่ง่ายที่สุด แค่คลิกก็พร้อมใช้งาน กับ อีกวิธีที่ยากขึ้นมาอีกระดับแต่ทำให้เรรารู้พื้นฐานที่จะประยุกต์ใช้งาน แก้ไขปัญหาต่างๆ บนเซิร์ฟเวอร์จริงได้ในอนาคต

ติดตั้ง WordPress แบบง่ายด้วย Local WP

Local WP เป็นโปรแกรมที่ช่วยให้เราสามารถจำลองเซิร์ฟเวอร์สำหรับติดตั้ง WordPress บนเครื่องได้แบบง่ายที่สุดในยุคนี้ ติดตั้งได้ทั้ง Mac, Windows และ Linux เหมาะสำหรับมือใหม่ มือเก่าที่อยากทำเว็บไซต์บนเครื่องตัวเองแบบออฟไลน์ก่อน

1. เตรียมโปรแกรม

ดาวน์โหลดโปรแกรม Local จากลิงก์ ดาวน์โหลด และติดตั้งบนเครื่องให้เรียบร้อย

2. เริ่มใช้งานโปรแกรม Local WP

ขั้นตอนแรกเปิดโปรแกรมขึ้นมา จะเจอกับหน้าว่างๆแบบนี้ ให้กดปุ่ม + เพื่อเพิ่มเว็บไซต์ใหม่

กดเพิ่มเว็บไซต์

เลือก Create a new site แล้วกด Continue

เลือก create new site

ตั้งชื่อเว็บไซต์ แนะนำเป็นภาษาอังกฤษ โดยชื่อนี้จะใช้เป็นเหมือนกับโดเมนในเครื่อง (ถ้าไม่แก้ไขเพิ่มเติมใน Advance options)

ตั้งชื่อเว็บไซต์

กด Continue ต่อได้เลย ถ้าใครอยากเลือกเวอร์ชั่น PHP เพิ่ม สามารถเลือกได้ในขั้นตอนนี้

เลือกรูปแบบ environment

ตั้ง username กับ password ให้เรียบร้อย ถ้าจะเปลี่ยน email ด้วยก็ได้ สำหรับ username เพื่อฝึกนิสัยด้านความปลอดภัยที่ดีในอนาคต ไม่ควรตั้งว่า admin หรือคำอื่นๆที่บ่งบอกถึงระดับผู้ใช้

ตั้งค่า username, password

3. สร้างเว็บเสร็จแล้ว เปิดดูได้เลย

หน้าควบคุมเว็บไซต์ของ Local WP

เสร็จแล้ว! เร็วมากในการติดตั้ง WordPress ลงบนเครื่อง โดยมีแค่ 3 step ใหญ่ๆ

  • Set up site
  • Set up environment
  • Set up WordPress

หลังจากนี้สามารถกดปุ่ม Open site เพื่อเข้าไปดูหน้าเว็บที่เราเพิ่งสร้างได้เลย หรือจะกดปุ่ม WP Admin เพื่อล็อกอินเข้าไปหน้าแดชบอร์ดสำหรับจัดการเว็บไซต์

ติดตั้ง WordPress แบบยากด้วย XAMPP

XAMPP เป็นโปรแกรมจำลองเซิร์ฟเวอร์บนเครื่องอีกตัวนึงที่ได้รับความนิยมมาก ติดตั้งได้ทั้ง Mac, Windows และ Linux ตัวอย่างนี้จะเป็นวิธีทำสำหรับคนใช้ Windows (เวอร์ชั่น Mac ก็คล้ายๆกัน)

วิธีจะค่อนข้างยากสำหรับมือใหม่ เพราะมีหลายขั้นตอนกว่าติดตั้งกับ Local WP มาก แต่ก็แนะนำว่าเป็นวิธีที่ควรฝึกไว้ เพราะสามารถประยุกต์ใช้งานกับโฮสติ้งที่ไม่มี One-Click Installer และทำให้ได้เห็นโครงสร้างของไฟล์กับ database ของ WordPress แบบคร่าวๆ

1. เตรียมสิ่งที่จำเป็น

  1. XAMPP : โปรแกรมจำลอง Server ลิงก์ดาวน์โหลด
  2. Visual Studio Code : ใช้สำหรับแก้โค้ด ลิงก์ดาวน์โหลด หรือโปรแกรมอื่นตามความถนัด
  3. ไฟล์ WordPress ลิงก์ดาวน์โหลด

2. ภาพรวมการติดตั้ง

สรุปภาพรวมของขั้นตอนให้เห็นภาพ ก่อนที่จะเริ่มติดตั้ง

  1. ติดตั้ง XAMPP
  2. สร้างโฟลเดอร์เว็บของเราที่ htdocs แล้วใส่ไฟล์ WordPress เข้าไป
  3. เริ่มใช้งาน XAMPP
  4. สร้างฐานข้อมูล (database)
  5. แก้ไขไฟล์ wp-config-sample.php เพื่อเชื่อมต่อ WordPress กับ Database ที่เพิ่งสร้างขึ้นมา
  6. ติดตั้ง WordPress ตั้งรหัสล็อกอิน

3. เริ่มติดตั้ง WordPress

สร้างโฟลเดอร์เว็บไซต์

เข้าไปที่โฟลเดอร์ htdocs (โฟลเดอร์ที่จะเก็บข้อมูลเว็บไซต์ของเราไว้) ถ้าเราติดตั้ง XAMPP ไว้ที่ Drive C ตำแหน่งของมันก็จะอยู่ที่ C:\xampp\htdocs

โฟลเดอร์ htdocs

ให้เราเข้าไปสร้างโฟลเดอร์ย่อย ใน htdocs สำหรับเก็บไฟล์ WordPress ของเราไว้ สามารถตั้งชื่อตามที่เราต้องการได้เลย (ชื่อโฟลเดอร์จะกลายเป็นลิงก์เข้าเว็บไซต์ด้วย แนะนำให้ใช้ภาษาอังกฤษ)

สร้างโฟลเดอร์ของเว็บไซต์

ในภาพตัวอย่างด้านบน เรามีเว็บไซต์เดิมอยู่ 2 เว็บไซต์ ก็คือ Website-01 กับ Website-02 เราได้ทำการสร้างโฟลเดอร์เปล่าๆ ชื่อว่า Website-03

ใส่ไฟล์ WordPress ในโฟลเดอร์ที่เพิ่งสร้าง

นำไฟล์ WordPress ที่ดาวน์โหลดไว้แล้วจาก wordpress.org มาใส่ในโฟลเดอร์ที่เราเพิ่งสร้าง ตามตัวอย่างด้านล่าง

ไฟล์ WordPress

เริ่มใช้งาน XAMPP

เปิด XAMPP ขึ้นมา แล้วกดปุ่ม Start ที่ Apache และ MySQL ได้เลย ถ้าใครยังไม่ได้ดาวน์โหลดไปโหลดกันได้ที่ลิงก์ดาวน์โหลดนี้

แต่ถ้าโหลดมาแล้วติดตั้งไม่เป็นก็ตามไปดูวิธีกันได้ที่บล็อกสอนวิธีติดตั้ง XAMPP สำหรับใช้งาน WordPress

กดเริ่มทำงาน XAMPP

ถ้า XAMPP ขึ้นสถานะ running แบบนี้แปลว่าพร้อมใช้งานแล้ว

สถานะของ XAMPP เมื่อพร้อมใช้งาน

สร้างฐานข้อมูลด้วย phpMySQL

ขั้นตอนแรกเปิด Chrome ขึ้นมา พิมพ์ว่า localhost/phpmyadmin แล้วคลิกที่ New เพื่อสร้าง Database ใหม่

สร้าง database

แล้วก็ใส่ข้อมูลให้เรียบร้อยตามภาพด้านล่าง
ข้อ 1 ใส่ชื่อ database ที่ต้องการ ในตัวอย่างใช้ชื่อว่า my_new_db
ข้อ 2 เลือก Collation (ถ้าเลือกผิด อาจเจอปัญหาภาษาต่างดาวได้)
ข้อ 3 กด Create ได้เลย

new database 02 LI

เมื่อกด Create เรียบร้อย Database ที่เราเพิ่งสร้างก็จะโผล่มาตรงนี้

ได้ database ใหม่

แก้ไขไฟล์ wp-config-sample.php

ต่อไปก็จัดการเปลี่ยนชื่อไฟล์จาก wp-config-sample.php —> wp-config.php

แก้ไขไฟล์ wp-config

แล้วก็จัดการดับเบิ้ลคลิก เข้าไปแก้ไขไฟล์ wp-config.php โดยมีสิ่งที่เราต้องแก้ไข 3 จุด ก็คือ

  1. database_name_here เปลี่ยนเป็นชื่อ database ที่เราเพิ่งสร้างไป
  2. username_here เปลี่ยนเป็น root
  3. password_here ลบออกได้เลย เพราะว่าเราไม่มี password
install wordpress 07 LI

เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วจะได้หน้าตาแบบนี้

install wordpress 08

สำหรับคนที่ไม่อยากพิมพ์สามารถ copy โค้ดด้านล่างนี้ไปใช้ได้เลย (อย่าลืมแก้ชื่อ database ให้ถูกต้อง)

// ** MySQL settings - You can get this info from your web host ** //
/** The name of the database for WordPress */
define( 'DB_NAME', 'my_new_db' );

/** MySQL database username */
define( 'DB_USER', 'root' );

/** MySQL database password */
define( 'DB_PASSWORD', '' );

ติดตั้ง WordPress

ให้เราเปิด Chrome แล้วพิมพ์ว่า localhost จะเจอกับลิสต์ของโฟลเดอร์ที่เราสร้างไว้ตั้งแต่ตอนแรก ก็คลิกที่โฟลเดอร์เว็บของเราได้เลย

ติดตั้ง WordPress

ก็จะเจอกับหน้า Setup ของ WordPress ให้เลือกภาษาที่ต้องการได้เลย

เลือกภาษาในการติดตั้ง

กรอกข้อมูลตามช่องให้เรียบร้อย แล้วกดปุ่ม “ติดตั้งเวิร์ดเพรส”

หน้าสำหรับกรอกรายละเอียด username, password

4. ติดตั้งด้วย XAMPP เสร็จเรียบร้อย

เสร็จแล้ว! กดเข้าสู่ระบบได้เลย แล้วทำการล็อกอินให้เรียบร้อย

ติดตั้งเรียบร้อย

เราก็จะเจอกับหน้าควบคุม หรือ หน้า Dashboard ของ WordPress กันแล้วว เป็นอันเสร็จสิ้นการติดตั้ง WordPress บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา ใครมาได้ถึงขั้นตอนนี้ก็ยินดีด้วย คุณทำสำเร็จแล้วว เย้!

หน้าแดชบอร์ดของ WordPress

ตั้งค่าความปลอดภัยให้ WordPress

หลังจากติดตั้ง WordPress นอกจากการสร้างหน้าเว็บ ตกแต่งเว็บไซต์แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การตั้งค่าเรื่องของความปลอดภัย ถ้าเราแค่ลองเล่นในเครื่องคอมเราเองอาจจะไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องนี้ แต่เมื่อไหร่ที่อัพโหลดขึ้นเซิร์ฟเวอร์จริงแล้ว แนะนำให้ตั้งค่าพร้อมสำรองข้อมูลทั้งหมดให้เรียบร้อย เพราะไม่รู้ว่าจะโดนแฮ็กเมื่อไหร่ โดยสามารถติดตามขั้นตอนการตั้งค่าได้ที่บทความ วิธีตั้งค่า WordPress ให้ปลอดภัยสำหรับมือใหม่