ทำ SEO ยังไงไม่ให้โดนมองเป็นสแปม

Google พยายามมากที่จะกำจัดเว็บที่พยามปั่นมากเกิน จนกลายเป็นสแปมออกจากผลการค้นหา มีการออกอัพเดทเรื่องนี้มาเรื่อยๆ เป้าหมายคือให้คนเสิร์ชเจอเนื้อหาที่มีคุณภาพ ตรงกับสิ่งที่กำลังค้นหาอยู่จริงๆ ซึ่ง Google จะตรวจเนื้อหาทั้งแบบใช้ bot และตรวจแบบใช้คนจริงๆตรวจ (อาจจะเป็นกรณีที่ bot ตรวจไม่เจอ แต่ดันมีคน report เข้าไป) ซึ่งเว็บที่โดนตรวจเจอว่าเป็นสแปมอาจโดนกดอันดับให้ต่ำลงหรือไม่ก็เอาออกจากผลการค้นหาไปเลย

ปิดบังเนื้อหา (Cloaking)

วิธีที่ SEO สายดำใช้กันบ่อยมาก คือ พยายามหลอก bot ของ Google ถ้าเช็ก user-agent แล้วเป็นของ Google, Ads Platform หรือ Search Engine ตัวอื่นๆ ให้พ่นเนื้อหาแบบนึงออกมา แต่พอเป็นคนเข้าจริงๆ ดันเจอกับเนื้อหาอีกอย่างนึง

ปั่นหลายเว็บเป็นทางผ่าน (Doorway)

เป็นเว็บที่สร้างขึ้นมาคล้ายๆกับเว็บหลัก แล้วก็มีเนื้อหาคล้ายๆกัน

  • สร้างเว็บหลายโดเมน เนื้อหาแต่ละเว็บแทบจะเหมือนกัน แต่แก้หน้าแรกให้ต่างกันนิดหน่อย
  • ปั่นเว็บโดเมนอื่น ทำเนื้อหาแตกต่างจากเว็บหลัก แต่ลิงก์กลับไปหาเว็บหลักเยอะจนน่าสงสัย
การทำ SEO ที่จะโดนมองเป็นแสปม
Image by benzoix on Freepik

หน้าเว็บที่โดนแฮก

หน้าเว็บที่โดนแฮกเกอร์เอาเนื้อหาแปลกๆมาวาง แล้วก็อาจมีการวางสคริปต์โจมตีคนที่เข้าเว็บด้วย พยายามดูแลเรื่องความปลอดภัยของเว็บให้ดี ถ้าโดนแฮกขึ้นมาอาจจะโดนขึ้นหน้าแจ้งเตือนสีแดงและโดนถอดออกจาก index

ซ่อนข้อความ หาอะไรมาบัง

หน้าเว็บบางหน้าที่อาจจะไม่ได้ออกแบบเนื้อหามาให้รองรับการทำ SEO จะแก้เนื้อหาให้ถูกหลักก็กลัวไม่สวยเหมือนเดิม บางคนอาจเคยใช้วิธีเอาข้อยาวยาวเป็นพืด ตัวเล็กๆซ่อนไว้หลังรูปภาพ หรือไม่ก็ทำตัวหนังสือสีขาว บนพื้นหลังสีขาว พวกนี้ถ้าโดน Google จับได้ก็ถือว่าเป็นสแปมเช่นกัน ถึงแม้ว่าเนื้อหาที่ซ่อนไว้จะเขียนมาอย่างดี

ยัดคีเวิร์ดเยอะเกินเหตุ

Google ฉลาดขึ้นทุกวัน ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจจะเห็นคำซ้ำๆเยอะมากในหน้าเว็บ ถึงขั้นหลัก 100 คีเวิร์ดในหน้าเดียว ซึ่งตอนนั้นหลายคนที่ทำแล้วได้ผลดี แต่ทุกวันนี้จะทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว แนะนำให้เขียนบทความอย่างเป็นธรรมชาติ ดูบริบทของคำประกอบ ถ้าภาพรวมเกี่ยวข้องกับคีเวิร์ดที่เราต้องการให้ติดจริงๆ ต่อให้ใส่ Long-tail keyword แค่ครั้งเดียว ยังไงก็มีโอกาสติดหน้าแรกและแซงบางเว็บที่ปั่นเกินเหตุได้อีกด้วย

สแปมลิงก์

  • จ้างคนทำบทความ รีวิว แล้วใส่ลิงก์เว็บของเราในบทความ
  • แลกลิงก์เยอะจนผิดปกติ ประมาณว่าเธอแปะลิงก์เว็บฉัน แล้วฉันจะแปะให้เธอคืน
  • ใช้พวก Auto generate backlink
  • ใส่ลิงก์ไปหาเว็บที่ต้องการปั่นเยอะแปลกๆ เช่น ใน 2 บรรทัด พยายามใส่ลิงก์เดิมครอบคีเวิร์ดไป 5 ครั้ง
  • ไปคอมเม้นตามบอร์ด แล้วใส่ลิงก์ของเราเป็นลายเซ็นต์หรือท้ายคำตอบ

Google แนะนำว่าถ้ามีการซื้อขายลิงก์ หรือจ้างทำบทความแล้วให้แปะลิงก์เรา ต้องใส่ attribute rel=”nofollow” หรือ rel=”sponsored” ถึงจะไม่มองว่าเป็นการสแปมลิงก์

ปั่น Traffic

การปั่น Traffic โดนมองว่าจะไปทำให้การวิเคราะห์ของ Google ผิดพลาด กลัวว่าจะดันอันดับเว็บที่ไม่ดีต่อผู้ใช้จริงๆขึ้นมาอันดับดีๆแบบผิดๆ เช่น การสั่ง bot เสิร์ชคีเวิร์ดเป้าหมาย แล้วคลิกลิงก์เว็บของเรา

การคัดลอกเนื้อหา
Image by rawpixel.com on Freepik

เนื้อหาที่ไปก้อบมา

บางคนอยากทำบทความแต่ไม่ยอมเขียนเอง ไปก้อบเนื้อหาของเว็บที่ติดอันดับดีๆมา ต่อให้เนื้อหานั้นดีมาก ตรงตามหลักเกณฑ์ของเนื้อหาที่ดีทุกอย่าง แต่พอเอามาลงในเว็บตัวเองแล้ว ไม่ได้ปรับแก้เนื้อหา, ปรับแก้เนื้อหานิดๆโยกคำหน่อยๆ, ไม่เพิ่มเนื้อหาที่มีประโยน์ และไม่ได้ใส่ลิงก์อ้างอิงถึงต้นฉบับ จะโดนมองว่าไม่ได้มีคุณค่าอะไรเพิ่มเติมให้คนเสิร์ชเลยและยังละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย

เนื้อหาที่ generate มาแบบมั่วๆ

เนื้อหาที่ใช้เครื่องมือ auto generate หรือแปลมาแบบมั่วๆ ไม่ได้ปรับแก้ไขคำ เนื้อหาอ่านไม่รู้เรื่อง มีแต่คีเวิร์ดผสมกันหรือไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรให้กับคนอ่านเลย ก็จะโดนมองเป็นสแปม

แต่เหมือนว่ามีช่วงนึงในภาษาไทย Google จะยังตรวจไม่เก่งขนาดนั้น เลยทำให้มีเว็บราชการที่โดนแฮกเอาไปใส่เนื้อหาที่ generate มามั่วๆ ดันติดอันดับดีๆใน Google ไป (ต.ค. – ธ.ค. 2022) ตอนกลางเดือนธันวาคม Google เลยเปิดตัว SpamBrain เพื่อมาสู้กับหน้าเว็บที่เป็นสแปมต่างๆในทุกๆภาษา ก็พบว่าเว็บราชการหน้าที่โดนใช้ปั่นคีเวิร์ดก็หลุดจากอันดับไป

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรูปแบบที่จะโดน Google มองว่าเป็นสแปม สามารถตามไปอ่านต่อได้ที่ลิงก์อ้างอิงด้านล่างนี้เลย